Background



ประชาสัมพันธ์
🔰คำสั่งจังหวัดพังงา ที่ 2429/2564 มีผลตั้งแต่วันที่ 17-31 สิงหาคม 2564 มาตรการสำหรับการเดินทางเข้ามาในเขตพื้นที่จังหวัดพังงา🔰
17 สิงหาคม 2564

138


🔰คำสั่งจังหวัดพังงา ที่ 2429/2564

มีผลตั้งแต่วันที่ 17-31 สิงหาคม 2564

มาตรการสำหรับการเดินทางเข้ามาในเขตพื้นที่จังหวัดพังงา🔰

🔻🔻🔻🔻🔻🔻🔻🔻🔻🔻🔻🔻🔻

1. ห้ามผู้ใดเดินทางเข้ามาในเขตพื้นที่จังหวัดพังงา เว้นแต่ กรณีดังต่อไปนี้

(1.1) เป็นผู้ที่มีเหตุจำเป็น เช่น

-เพื่อการพบแพทย์ การรักษาพยาบาล การปฏิบัติหน้าที่แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และ การสาธารณสุข หรือ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกู้ชีพ กู้ภัย

-การปฏิบัติงานหรือการทำธุรกรรมเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ และสถาบันการเงิน ตู้เอทีเอ็ม

-การจดทะเบียนสิทธิ การทำนิติกรรมสัญญา การสื่อสารมวลชน โทรคมนาคมและไปรษณีย์ การให้บริการ

-ขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า เพื่อการบริโภค อุปโภค การจัดหาและซื้อขายอาหาร ยา เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา

-ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ การติดต่อด้านคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ หรือศาลตามความจำเป็น หรือ

-การเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งต่าง ๆ ของทางราชการ หรือ มีเหตุจำเป็นอื่น ๆ

(1.2) ทั้งนี้ ผู้ได้รับการยกเว้นตามกรณีดังกล่าวข้างต้น

ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ชนิดชิโนแวค (Sinovac) , ชิโนฟาร์ม (Sinopham) ครบ 2 เข็ม หรือ ซีโนแวค (Sinovac) เข็ม 1 แอสตราเชนิกา (AstraZeneca) เข็ม 2 หรือ ได้รับวัคซีนชนิดแอสตราเซนิกา (AstraZeneca) , ไฟเซอร์ (Pfizer) , โมเดอร์นา (Moderna) , จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson andJohnson) จำนวน 1 เข็ม โดยได้รับวัคซีนแต่ละชนิดมาแล้ว เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน

หรือ ต้องได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยวิธีการ RT - PCR หรือ วิธีการ Antigen Test Kit มาจากนอกพื้นที่จังหวัดพังงา โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทางมาถึงจังหวัดพังงา

💁🏻‍♀️และต้องปฏิบัติดังนี้

- รายงานตัวต่อนายอำเภอ หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่นายอำเภอมอบหมาย ในเขตท้องที่ที่มาพำนัก

- ให้เข้ารับการแยกกัก หรือกักกันตัว ในที่พักอาศัย(Home Quarantine) หรือ ในสถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเห็นสมควร เป็นระยะเวลา 14 วัน

(1.3) กรณี นักเรียน นักศึกษา อายุไม่ถึง 18 ปี

ที่ไม่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ และมีความจำเป็นต้องเดินทางผ่าน เข้า - ออก จังหวัดพังงา เพื่อการเรียนการศึกษา ให้หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา หรือศึกษาธิการจังหวัด ออกบัตรประจำตัวเป็นรูปแบบเดียวกัน แสดงต่อเจ้าหน้าที่เมื่อเดินทางผ่าน เข้า - ออก จังหวัดพังงา และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงา ตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยวิธีการ Antigen Test Kitและออกใบรับรองการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

(1.4) กรณี ผู้มีนัดหมายฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เข็มที่ 2 ต้องมีใบนัดหมายการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ที่จังหวัดพังงา และ ต้องได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัส

โคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยวิธีการ RT - PCR หรือ วิธีการ Antigen Test Kit มาจากนอกพื้นที่จังหวัดพังงา โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทางมาถึงจังหวัดพังงา

(1.5) ต้องดาวน์โหลดและติดตั้งระบบแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" บนสมาร์ทโฟน📱

และยินยอมเปิดแชร์ตำแหน่งที่ตั้ง (Location) ตลอดระยะเวลาที่ อยู่ในจังหวัดพังงา เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาตของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

(1.6) แสดงเอกสารหลักฐานข้างตัน ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่าน ก่อนเดินทางเข้ามาในเขตพื้นที่จังหวัดพังงา

(1.7) ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่ออย่างเคร่งครัด

(1.😎 หากพบอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ โรงพยาบาลที่อยู่ในท้องที่ทันที หรือ อย่างข้าภายใน 3 ชั่วโมง

2. ❌มาตรการการปิดสถานที่ในจังหวัดพังงา❌

(2.1) สถานที่เล่นการพนันทุกประเภท เช่น สนามชนโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา สนามแข่งนก สนามม้า สนามมวย หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน

(2.2) สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน

(2.3) สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด และนวดแผนโบราณ เว้นแต่ เป็นการนวดเพื่อการรักษาในสถานพยาบาล หรือ การนวดพื้นบ้านเพื่อการรักษานอกสถานพยาบาล

(2.4) สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร

(2.5)ตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และร้านอินเตอร์เน็ต สวนสนุก

3. ❌🏫ห้ามใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท ในเขตพื้นที่ จังหวัดพังงา เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่โรค เว้นแต่ การใช้เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือ การใช้เป็นสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลืออุปการะ 🔻ตั้งแต่วันที่ 17-31 สิงหาคม 2564🔻

4. ❌ห้ามการดำเนินการหรือจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่จังหวัดพังงา ดังนี้❌

(4.1) ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกัน มากกว่าห้าสิบคนเว้นแต่ ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อระดับอำเภอ

(4.2) ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใด ๆ ในเขตพื้นที่จังหวัดพังงา

(4.3) ห้ามกระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ออกไป

(4.4) ห้ามมิให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวออกนอกเขตจังหวัด หรือ นอกเขตอำเภอในจังหวัดพังงา ทุกกรณี เว้นแต่ มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตต่อนายอำเภอ หรือ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่นายอำเภอมอบหมาย

(4.5) ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้  ภายในกำหนดเวลาปกติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และห้ามมิให้มีการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ในร้าน ทั้งนี้ หากพบว่ามีการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน ให้ถือเป็นความผิดของ                 เจ้าของร้านและเป็นความผิดของผู้บริโภค         

(4.6) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ เว้นแต่ ส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก

(4.7) ให้งดการจัดงานสังสรรค์ งานเลี้ยง งานรื่นเริง งานวันเกิด งานขึ้นบ้านใหม่ เลี้ยงรับ – ส่ง และเลี้ยงฉลองแสดงความยินดีในโอกาสต่าง ๆ เว้นแต่ การจัดพิธีการตามประเพณีนิยมที่ไม่สามารถเลื่อนได้ เช่น งานพิธีการศพ งานอุปสมบท งานมงคลสมรส วันสำคัญทางศาสนาหรืองานบุญ ให้ดำเนินการได้ภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่เพียงพอเพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ โดยงดการจัดเลี้ยงอาหารภายในงาน และต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อระดับอำเภอ

อนึ่ง ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ อาจมีความผิดตามมาตรา ๕๐ หรือ มาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือ อาจมีความผิด  ตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ